บทบาทใหม่‘ธรรมศาสตร์’มหาวิทยาลัยสุขภาพดีเพื่อคนทั้งมวล

การดูแลสุขภาพกลายมาเป็นเทรนด์แห่งยุคสมัย โดยเฉพาะหลังจากที่โควิด-19 ผ่านจุดพีคของการแพร่ระบาด พบว่าคนไทยมีความตื่นตัวและรอบรู้ด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น

KSME Analysis ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฉายภาพสถานการณ์เมื่อปี 2563 พบว่ากระแสการตื่นตัวด้านสุขภาพได้รับความสนใจอยากมากในประเทศไทย ยืนยันได้จากจำนวนคนออกกำลังกายซึ่งมีมากกว่า 12.9 ล้านคน ทั่วประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้น ขณะนี้ประเทศไทยเตรียมที่จะขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ซึ่งเป็นมติจากงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565 อีกด้วย

หัวใจของการดูแลสุขภาพคือ “สร้างนำซ่อม” การลงทุนสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเพื่อไม่ให้คนเจ็บป่วยย่อมคุ้มค่ากว่าการตามไปรักษาพยาบาลทีหลัง ฉะนั้นการมีพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการดูแลสุขภาพและออกกำลังกาย จึงเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน

ข่าวการศึกษา

ด้วยความสำคัญของพื้นที่ออกกำลังกายและการเล่นกีฬา นำมาสู่การพัฒนาพื้นที่ขนาด 300 ไร่ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ภายใต้การดูแลของ สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มธ. เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้าง Sport Community พื้นที่กลางสำหรับการดูแลสุขภาพและการกีฬา ที่ครบวงจรที่หนึ่งของประเทศไทย

“สิ่งแรกที่มองคือความแข็งแรงของสุขภาพกาย ซึ่งสัมพันธ์กับความแข็งแรงของสุขภาพจิต กีฬาทุกประเภทสอนในเรื่องความอดทน ระเบียบวินัย การฝึกฝน เพราะไม่มีใครเล่นกีฬาแล้วเก่งในวันเดียว ความสม่ำเสมอจึงเป็นหัวใจ ซึ่งก็เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองด้วย” ณัฐพงศ์ จงอักษร ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจกีฬา สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มธ. ระบุ

ไอเดียของ ‘มหาวิทยาลัยสุขภาพดีเพื่อคนทั้งมวล’ และการเป็น ‘บ้านหลังที่สองของนักศึกษาที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพ’ จึงเป็นจุดเริ่มของการพัฒนาสถานที่เล่นกีฬาและพื้นที่สันทนาการในพื้นที่มหาวิทยาลัย โดยใช้ ‘ฐานทุนเดิม’ ของการที่ มธ. ศูนย์รังสิต มีสนามแข่งกีฬามาตรฐานระดับโลกและเคยใช้แข่งกีฬาในระดับนานาชาติ เช่น การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13, เฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ 7